อาการของโรค “รองช้ำ”
คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรครองช้ำ หรือเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะมีอาการเจ็บที่ฝ่าเท้า และส้นเท้า โดยจะรู้สึกปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก บางคนมีอาการปวดเมื่อเท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น การเดินในระยะทางไกล หรือการยืนเป็นเวลานาน
ในทางการแพทย์ อาการ “รองช้ำ” เกิดขึ้นจากการอักเสบของเส้นเอ็นฝ่าเท้า โดยเอ็นฝ่าเท้าจะยึดจากกระดูกส้นเท้าไปยังนิ้วเท้า ทำหน้าที่ช่วยรักษารูปทรงของเท้า และยังทำหน้าที่ลดแรงกระแทกเมื่อเดินหรือวิ่งดังนั้นเมื่อมีการอักเสบจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บเมื่อลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า
โรครองช้ำเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยอาการเกิดได้จากหลายสาเหตุ
1.คนที่จำเป็นต้องใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานาน เช่นการยืนหรือเดินมากในระหว่างวัน ทำให้เอ็นที่ฝ่าเท้าต้องรองรับน้ำหนักมากเป็นเวลานาน
2.คนที่สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม อาจนุ่มเกินไปหรือแข็งจนเกินไป หรือรองเท้าแฟชันที่ไม่มีแผ่นบุรองเท้าที่เหมาะสมเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
3.เมื่อมีอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อที่รองรับใต้ฝ่าเท้าอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ทำให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้าได้ง่ายขึ้น
4.การมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ทำให้ฝ่าเท้าต้องทำงานหนักขึ้นในการรับน้ำหนักตัว ก่อให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
5.การออกกำลังกายอย่างไม่เหมาะสม เช่น การวิ่งโดยไม่ใช้แผ่นรองเท้าที่รองรับแรงกระแทกได้ดีเพียงพอ หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้ฝ่าเท้าอย่างหนักเป็นเวลานาน
6.ลักษณะทางกายภาพของเท้าไม่ปรกติ เช่นมีปัญหาเท้าโก่ง เท้าแบน หรือกระดูกที่คด
วิธีการรักษาอาการปวดส้นเท้า หรือโรคเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ สามารถรักษาโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ต้องอาศัยการดูแลตัวเองอย่างมีวินัย เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น
1.รับประทานยาต้านการอักเสบเพื่อลดอาการปวด
2.เลือกใส่รองเท้าให้เหมาะสม โดยควรเลือกรองเท้าที่มีส้นนุ่ม หรือใช้แผ่นรองเท้า (Arch Support) หรืออุปกรณ์รองรับส้นเท้า (Heel Cushion) เพื่อลดการกระแทกจากการเดิน ลดการเกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
3.ทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง โดย ทำการประคบน้ำร้อน และยืดกล้ามเนื้อเอ็นฝ่าเท้า
4.ลดการใช้ฝ่าเท้าอย่างหนัก เช่น การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป
การรักษาโรครองช้ำจะอาศัยการปรับพฤติกรรมและความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่น เปลี่ยนรองเท้า ใช้แผ่นรองเท้าที่เหมาะสม ลดน้ำหนัก ปรับการออกกำลังกาย และทำกายภาพบำบัดยืดเอ็นฝ่าเท้าเป็นประจำ จะทำให้อาการดีขึ้นได้